กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จำเป็นต้องมีหรือไม่ในทศวรรษนี้ 2024 ?

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนครับว่า ตำแหน่ง กำนันผู้ใหญ่บ้าน มีมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองในระดับท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารงานราชการในแต่ละหมู่บ้านและชุมชนมีความมีระเบียบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำนันผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทในการดูแลและบริหารจัดการชุมชนในระดับท้องถิ่นแทนการควบคุมของเจ้าผู้ครองนครที่มีอำนาจในพื้นที่

จุดประสงค์ของการจัดตั้งตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน

    1. การจัดระเบียบการปกครองในระดับท้องถิ่น ในช่วงนั้น การปกครองของไทยยังมีความซับซ้อนและกระจายอำนาจอย่างไม่ชัดเจน การมีตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านจึงมีจุดประสงค์เพื่อทำให้การปกครองและการจัดการในระดับหมู่บ้านมีความชัดเจนและมีระเบียบมากขึ้น
    2. การเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน กำนันผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทในการเชื่อมโยงข้อมูลและคำสั่งจากรัฐบาลกลางหรือท้องถิ่นไปยังประชาชนในระดับหมู่บ้าน และในทางกลับกันสามารถนำเสียงร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะจากประชาชนส่งต่อไปยังรัฐบาลได้
    3. การเสริมสร้างความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อย ในช่วงเวลานั้น การรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชนมีความสำคัญสูง กำนันผู้ใหญ่บ้านจึงต้องดูแลความปลอดภัยและความสงบในหมู่บ้าน รวมทั้งช่วยในการป้องกันปัญหาท้องถิ่น เช่น ความขัดแย้งระหว่างหมู่บ้าน หรือการละเมิดกฎหมาย
    4. การสนับสนุนการพัฒนาในระดับท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้านยังมีหน้าที่ในการสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น โครงการการศึกษา การเกษตร การสาธารณสุข และอื่นๆ ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการดำเนินการในท้องถิ่น

นั่นคือความสำคัญและความจำเป็นต้องมีของตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน เป็นการบริหารจัดการบ้านเมืองอย่างหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโดยมีองค์กรหรือหน่วยงานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมา ซึ่งมีศักยภาพและสนองนโยบายส่วนกลางได้ครอบคลุมกว่า การลดหน่วยงานที่ไม่จำเป็นและเกิดภาวะงานซ้ำซ้อนจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อระบบราชการ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลงไปด้วย และประเด็นสำคัญคือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เห็นว่า ตำแหน่งนี้ทำงานไม่คุ้มเงินเดือน โดยเฉพาะการปรับให้ดำรงตำแหน่งจนอายุ 60 ปี จากเดิมมีวาระคราวละ 4 ปี ยิ่งเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชน เพราะเข้ามารับตำแหน่งแต่ไม่ทำหน้าที่ นอกจากนี้ยังทำตนเป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองไปซะอย่างนั้น

ถ้าเป็นผมจะไม่เอาทั้ง 2 อย่าง ทั้งอยู่จนอายุ 60 ปีและอยู่ครบวาระ 5 ปี ไม่เอาทั้งคู่ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในยุคนี้ ใจผม สถาบันนี้ควรจะยกเลิกไปได้แล้ว หากยังมีสิ้นเปลืองเงินงบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ให้หน่วยงานอืนที่อยู่ในพื้นที่องค์กรส่วนจังหวัด ส่วนนายอำเภอก็สามารถทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว

และที่น่าแปลกใจ เหล่ากำนันผู้ใหญ่บ้านออกมาชูป้าย ถามว่าใครได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือ หากมีสำนึกในหน้าที่ของข้าราชการที่ดี ท่านทราบอยู่แล้วครับว่าอะไรหรือใครได้ประโยชน์  ทำไมตอนรัฐขึ้นค่าเหนื่อยให้ไม่ออกมาชูป้ายบ้างว่า ไม่ต้องครับเท่าที่ได้รับก็เหมาะสมกับงานที่ทำแล้วเป็นการประหยัดงบของราชการ เอออันนี้สิ ใครได้ประโยชน์  ดังนั้นการกระทำของคนกลุ่มนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายึดถือและรักษาผลประโยชน์ตนเองยิ่งกว่าการพัฒนาของชาติบ้านเมือง อีกทั้งยังขัดต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่เขาไม่ต้องการ

ยอมรับครับว่ามีกำนันผู้ใหญ่บ้านหลายท่านที่รู้จัก ทำหน้าที่ดี เป็นที่รักของชาวบ้าน เขาเหล่านี้ไม่เคยกลัวเลยครับ ไม่มีตำแหน่งนี้ก็สมัครตำแหน่งผู้นำอื่น ชาวบ้านพร้อมสนับสนุน แล้วย้อนมาดูครับกลุ่มที่ไปเย้วๆวัน ท่านกลัวอะไร ? หรือเพราะการทำหน้าที่ของท่านมันไม่ถึงใจลูกบ้าน หรือใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริตจนเกรงผลกรรมที่จำความฉิบหายมาให้ครับ แล้วอย่ามากล่าวโดยคิดว่าประชาชนเขากินหญ้าครับว่า อย่าเอาเราไปเกี่ยวกับการเมือง ผมนี่แทบอายแทนจริงๆครับ ท่านผู้อ่านว่าจริงไหม ลองคิดดู